ทำความรู้จักกับหนอน BSF
แมลงโปรตีน BSF (Black soldier fly) เป็นแมลงท้องถิ่นที่มีอยู่ในธรรมชาติทุกภูมิภาคของประเทศไทย และเป็นแมลงที่มีประโยชน์ มีความปลอดภัยต่อพืชและชุมชนโดยแมลงไม่เป็นศัตรูพืช สัตว์และไม่เป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่คน และสัตว์ แมลงโปรตีน BSF มีความสำคัญในโมเดลระบบเศรษฐกิจทางชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG economy model) โดยตัวหนอนสามารถกินเศษเหลือทิ้งอินทรีย์ และเปลี่ยนเป็นชีวมวลที่มีโปรตีนที่ดีสามารถใช้เป็นวัตถุดิบโปรตีนทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์
ชีววิทยาของแมลงโปรตีน BSF
หนอนแมลงโปรตีน BSF (Black Soldier Fly Lavae) หรือหนอนแมลงวันลาย เป็นแมลงวันที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hermitia illucens L. จัดอยู่ในวงศ์ เป็นแมลงสองปีก ลำตัวสีดำคล้ายตัวต่อ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาตัวเต็มวัยไม่กินอาหารไม่เป็นศัตรูพืชไม่นำโรค และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ตัวหนอนกินซากอินทรีย์ได้หลากหลายชนิด รวมทั้งเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร และขยะอินทรีย์ในชุมชน แมลงโปรตีน ที่มีวงจรชีวิต 5 ระยะ ได้แก่ ไข่ หนอน ก่อนเข้าดักแด้ ดักแด้ และตัวเต็มวัย
- ไข่ (egg) : เพศเมียแต่ละตัวจะวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 400-1300 ฟอง ตามรอยแยกหรือรอยแตกของวัสดุ พบในที่แห้งใกล้กับบริเวณที่มีอินทรียวัตถุหรืออาหาร ไข่สีขาวเหลืองมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดข้าวสาร ไข่ใช้เวลา 3-4 วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน เมื่อใกล้ฟักสังเกตเห็นจุดสีแดงบริเวณไข่
- ตัวหนอน (larval) : ตัวหนอนมี 5 ระยะ ในการเจริญเติบโตตั้งแต่ฟักออกจากไข่ใช้เวลา 13-18 วัน ตัวหนอนกินอาหารเป็นซากพืชและซากสัตว์หรือขยะอินทรีย์รวมทั้งมูลสัตว์ เป็นอาหาร ตัวหนอนมีลักษณะหัวแหลมลำตัวอวบอ้วนมีขนสีขาวครีม หนอนโตเต็มที่หรือวัยสุดท้ายมี ลำตัวกว้าง 3 มิลลิเมตร ยาว 20 มิลลิเมตร
- ระยะก่อนเข้าดักแด้หรือหนอนตัวดำ (prepupa) : เป็นระยะที่ตัวหนอนที่ลำตัวเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาปนดำ เป็นระยะเตรียมเข้าดักแด้โดยเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้นี้เป็นระยะรอยต่อระหว่างตัวหนอนกับดักแด้ เป็นระยะก่อนเข้าดักแด้นี้ที่ไม่กินอาหาร โดยเคลื่อนย้ายตัวออกจากแหล่งอาหารที่กินเพื่อหาที่แห้งเตรียมเข้าสู่ระยะดักแด้ ใช้เวลา 6-9 วันจึงเปลี่ยนเป็นระยะหนอนแข็ง
- ระยะดักแด้หรือหนอนตัวแข็ง (pupa) : ลำตัวเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มและผิวแห้งแข็ง ปลายท้องงุ้มลง ระยะงี้แมลงหยุดการเคลื่อนที่ เหมือนตาย ใช้เวลา 7-9 วัน จึงโผล่ออกจากปลอกดักแด้ เป็นตัวบิน
- ตัวเต็มวัยหรือตัวบิน (adult) : ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2-9 วัน มีลำตัวสีดำลักษณะคล้ายตัวต่อขนาดลำตัวยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ที่ปลายขาจะมีสีขาวอย่างเห็นได้ชัด เมื่อปีกสะท้อนกับแสงแดดจะมีสีน้ำเงินหรือสีทองแดง ที่ท้องปล้องแรกจะมีแต้มสีขาว เพศผู้ปลายท้องเรียวยาว สีน้ำตาลหรือทองแดง เพศมีลายท้องใหญ่ สีดำมองเห็นอวัยวะวางไข่ได้อย่างชัดเจน

วิธีการใช้ประโยชน์ของแมลงโปรตีน BSF
1.อาหารสัตว์
หนอนโปรตีน BSF เป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระยะตัวหนอนช่วงท้ายหรือระยะหนอนเริ่มเข้าดักแด้ หรือหนอนตัวดำ มีคุณค่าทางโภชนสารที่สูงทั้งโปรตีน 40-50% ไขมัน 25-35% แร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นและมีกรดไขมันที่ดีหลายชนิด สามารถใช้ทดแทนแหล่งโปรตีนแบบดั้งเดิม เช่น ปลาป่นและกากถั่วเหลืองได้บางส่วนหรือได้ทั้งหมดในการผลิตอาหารสัตว์ นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีนสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งมีศักยภาพที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับการบริโภคของมนุษย์
2.การจัดการขยะอินทรีย์
ตัวหนอน BSF ดำรงชีพจากการกินขยะอินทรีย์จากพืชและสัตว์ต่างๆ ทั้งจากการเกษตร อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เช่น ของเสียจากโรงงานอาหาร ผัก-ผลไม้ที่หมดอายุ และเศษอาหารในครัวเรือน เป็นต้น ดังนั้นจึงนำหนอน BSF มาใช้สำหรับเป็นตัวทางชีวภาพในการขจัดขยะอินทรีย์ โดยหนอนเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากการใช้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของตัวหนอนและสร้างเป็นชีวมวลที่มีคุณค่าทางโภชนาการและโปรตีนสูง
3.การบำบัดทางชีวภาพ
หนอน BSF สามารถใช้เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนพวกโลหะหนักและสารพิษชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการสะสมทางชีวภาพและการเปลี่ยนรูปทางชีวภาพ ตัวหนอน BSF สามารถลดความเข้มข้นของตะกั่วและแคดเมียมในดินลง 56% และ 48% ตามลำดับ ภายใน 21 วัน หนอน BSF ช่วยขจัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในมูลสุกร โดยหนอน BSF สามารถลดความเข้มข้นของทองแดง สังกะสีและแคดเมียมได้ 64%, 43% และ 57% ตามลำดับ และหนอนสามารถกำจัดโลหะหนักของทองแดง สังกะสี และตะกั่วออกจากกากตะกอนน้ำเสียได้ 78%, 73% และ 90% ตามลำดับ
4.การผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
ไคตินซึ่งเป็นโพลีแซคาไรด์ที่พบผนังลำตัวภายนอกของแมลงโปรตีน BSF สามารถสกัดและแปรรูปเป็นไคโตซาน ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพอเนกประสงค์ที่มีการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆรวมถึงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ฟิล์มห่อผักผลไม้เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บรักษา
5.ปุ๋ยชีวภาพจากมูลแมลง
มูลที่ขับถ่ายจากหนอน BSF มีปริมาณสารอาหารสูง ทำให้เหมาะสำหรับใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพหรือสารบำรุงดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช มูลจากหนอน BSF มีไนโตรเจน 1.71-5.64% ฟอสฟอรัส 0.46-1.05% และโพแทสเซียม 1.29-2.68% ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

อ้างอิง
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). 2567. คู่มือการผลิตและใช้ประโยชน์แมลงโปรตีน BSF สำหรับเกษตรกร.